บันทึกการเดินทาง
อีกครั้งของ เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง กับการจัดนิทรรศการ “รวมพลังท้องถิ่นไทยรวมใจปิดทองหลังพระ” 25 -28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ สนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่ คำนำ
อีกครั้งหนึ่งของการเดินทางในนามของ “เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง” ที่จัดเป็นรูปขบวนการเรียนรู้ ควบคู่กับการนำผลงานในรอบห้าปีของเครือข่าย ที่ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับชีวิตตนเองและกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยองจนเป็นที่รู้จักของผู้คน
เราคาดหวังว่าจะมีโอกาสในการเติมความรู้ ประสบการณ์ที่ดีและพบเพื่อนที่เชื่อมั่นศรัทธาในหลักเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกับเรา
สุขสมหวังกันทุกคน กับการเดินทางครั้งนี้ ได้รู้ พบ เห็น ประสบการณ์ของผู้คนที่ได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ จึงคิดว่า น่าจะได้บันทึกบางแง่มุมของการเดินทางครั้งนี้ไว้ เป็นบันทึกแห่งความทรงจำ ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ต่อพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดิน ปลื้มกับกับงานของพระเจ้าแผ่นดินที่หอเฉลิมพระเกียรติ ส่งผลให้เรามีไฟในการขับเคลื่อนงานกันอย่างมีความสุขต่อไป
ต้องขอขอบคุณกับพี่สถิตย์ ปลัดอุดรและคณะ ที่ช่วยดูแล อำนวยความสะดวกพวกเราเป็นอย่างดีเยี่ยม ขอบคุณพวกเรา คณะเดินทางและทีมงานที่เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุงทุกคน ที่ช่วยกันทำให้งานครั้งนี้ เป็นความทรงจำที่มิรู้ลืม
ชาติชาย เหลืองเจริญ
มหาวิทยาลัยบ้านนอก 31 มีนาคม 2553 ![]() ก่อนเดินทาง เราเตรียมตัวกันพอสมควร เพราะเป็นการเดินทางไกลมาก ที่เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุงไม่เคยเดินทางไกลขนาดนี้มาก่อน พี่สถิตย์(ผู้จัดงาน) แจ้งกับเราว่าอยากเห็นนิทรรศการที่มีชีวิต มากกว่าการเอาป้ายไปแขวน ด้วยแนวคิดนี้เราจึงคิดว่า การเอาคนที่ปฏิบัติการจริงในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ไปจัดนิทรรศการ น่าจะทำให้ซุ้มของเรามีความสดชื่นละมีชีวิตชีวาอย่างที่ผู้จัดงานต้องการ มีการประชุมและมอบหมายภารกิจ การติดตามงานกันถึงสามครั้งก่อนการเดินทาง กำพลกับโกหนู สำเริง ดูเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะครั้งนี้เราจะนำศาลารวมซื้อรวมขายยางพาราไปด้วย
นพรัตน์ มยุรี ดูเรื่องสินค้าที่จะนำไปขาย เอ็นดู ดูเรื่องอาหารการกินเนื่องจากเราคิดว่าการทำอาหารกินเองน่าจะดีกว่าการไปซื้อกิน เนื่องจากว่าเราไปกันหลายคน โดยเฉพาะซุปเปอร์เคน กินมากกว่าคนอื่น ๆ
ชุมพล เคน ช่วยประสานงาน
บรรจบ จันทร์เพ็ญดูสิ่งที่คิดว่าจะขาดแคลน
เอ็นดู รับผิดชอบเรื่องอาหารการกิน แม้ว่าผู้จัดจะยืนยันว่ามีอาหารเลี้ยงตลอดรายการก็ตาม
มีการวางแผนกันทุกวันที่เครือข่าย น้ำพุและทีมงานเยาวชน ไปถอดศาลารวมซื้อรวมขายมาทำความสะอาด และทาแลกเกอร์ พวกเราหลายคนช่วยกันแสดงความคิดเห็น เป็นกำลังใจให้กับการเตรียมงาน
ช่วงเวลานี้ มีนักเดินทางมาเยี่ยมเยียนเรียนรู้ที่เครือข่ายแทบทุกวัน สำเริง ที่รับงานเตรียมของจึงไม่ค่อยมีเวลามากนัก แต่สุดท้ายเราเริ่มเตรียมอุปกรณ์ และเดินทางในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ด้วยประสบการณ์ของพวกเราทุกคน ทำให้ทีมงานมีความพร้อมแบบกะทันหัน (ยืนยันว่าแบบกะทันหัน) อีกครั้งหนึ่ง
เราเริ่มทยอยเดินทาง คันที่หนึ่ง มี กำพลและโกหนู นำทีม อุปกรณ์เพียบ ศาลาไม้จากกลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพาราถูกถอดนำมาเรียงอย่างเป็นระเบียบ เครื่องเสียง เสาอากาศ เครื่องส่งวิทยุชุมชน อุปกรณ์ไฟฟ้า รถของกำพลเป็นรถกะบะตอนเดียว มีแซงข้างรถป้องกันของตกหล่นได้เป็นอย่างดี ถูกคลุมด้วยแสลมสีดำ เราสบายใจได้ว่าถึงปลายทางโดยมีของครบแน่นอน ไม่หล่นหายไปเสียก่อนระหว่างเดินทาง ชาติชาย นพรัตน์ สำเริง เคน ใช้รถโตโยต้าปิกอัพแคป นำสินค้าเพียบ เป็นคันที่สอง กะปิ น้ำปลา ทุเรียนทอด ทุเรียนทรงเครื่อง ปลากรอบ หลายคนมีความรู้สึกว่าเราเตรียมของไปขายมากเกินไปหรือเปล่า แต่ด้วยบุคลิกง่าย จึงคิดร่วมกันว่าถ้าขายไม่ได้ก็ขนกลับ วัดดวงกันที่เชียงใหม่
คันที่สาม มยุรี เอ็นดู ชุมพล มีขุนแผนเป็นพลขับ ใช้รถโตโยต้าปิกอัพแคป บรรทุกสินค้าละเครื่องนอน เครื่องครัว หลายคนวิจารณ์ว่า รถคันนี้มีทั้งคนขับ(ขุนแผน)และคนควบคุมการขับ(คุณมยุรี) น่าจะสบายใจได้ อย่างไรก็ตามเราต่างพากันเป็นห่วงเพราะพลขับอายุมากถึง 70 กว่าปีด้วยกัน
คันที่สี่ รถอีซุซุแคป มีบรรจบ จันทร์เพ็ญ และ น้าเพียร ติดรถไปเที่ยวด้วย บรรทุกของส่วนที่เหลือจากรถทั้งสามคัน โดยวางแผนว่าจะเยี่ยมเยียนพรรคพวกทางสายเหนือ จึงนำต้นไม้จากธนาคารต้นไม้ มีมังคุด ทุเรียน ลองกอง นำไปฝากพวกและส่วนหนึ่งนำไปขายที่งาน คันนี้รั้งท้ายเพราะ บรรจบ มีประสบการณ์การเดินทาง และมีความชำนาญเส้นทางมากกว่าคนอื่น ๆ
![]() เริ่มเดินทาง เราล้าช้าไปนิดหน่อย เพราะมีนักเดินทางมาเรียนรู้งานพัฒนาที่เครือข่าย สนทนาติดพันไปหน่อย ทำให้การเดินทางต้องเลื่อนตามไปด้วย เราเริ่มตรวจสอบว่า ลุงอู๊ดและคณะที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนพรรคพวกที่ลาว ล่วงหน้าไปรอเราอยู่ที่ไหน รับสัญญานโทรศัพท์ส่งกลับมาว่า มานอนรออยู่ที่จังหวัดตากแล้ว จึงนัดหมายกันว่าไปเจอกันที่เชียงใหม่
ผมทำหน้าที่พลขับรถคันที่ 2 มี ซุปเปอร์เคน หัวหน้ากองทัพมด ที่ตื่นเต้นต่อการเดินทางมากกว่าคนอื่น ๆ คอยชวนคุยและถามโน่น นี่ไปตลอด ผมแวะซื้อสายรัดที่ตลาดสามย่าน เพื่อมัดสิ่งของที่บรรทุกไปให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น
ล้อหมุน เมื่อเหลือบมองนาฬิกาดิจิตอลที่หน้ารถ สำเริง เอ่ยขึ้นมาว่า
“เที่ยงวันพอดี เราน่าจะถึงซักเที่ยงคืน” เป็นการคาดการณ์ปกติที่สำเริงชอบทำเป็นประจำ
จะถึงเชียงใหม่เที่ยงคืน ตามที่สำเริงคาดการณ์หรือไม่ ติดตามกัน
เมื่อถึงร้านอิ่มท้องที่หนองปรือ จังหวัดชลบุรี เราแวะกินข้าวกลางวันกัน กำพลและโกหนู รถ คันที่หนึ่ง ที่ล่วงหน้าเราไปก่อน แจ้งระยะการเดินทางให้เราทราบเป็นระยะ ๆ
ขับรถไปนึกถึงอุปกรณ์ที่ไม่ได้นำไปมีอะไรบ้าง ปรากฏว่ายังขาดอีกหลายอย่าง ใช้โทรศัพท์ให้เป็นประโยชน์ โทรแจ้งมายังเครือข่ายให้ช่วยจัดของเพิ่มเติม ดีที่บรรจบที่รั้งท้ายยังไม่ได้ออกเดินทาง จึงให้ช่วยนำมาเพิ่มเติม
ไปเรื่อย ๆ ไม่รีบร้อน แวะเป็นระยะตามปั๊มน้ำมัน สอบถามกันทางโทรศัพท์ เราไปทันและแวะกินข้าวเย็นประมาณ 3 ทุ่ม ที่ จังหวัดตาก หลังจากนั้นเกาะขบวน 4 คันไปพร้อมกัน
ผมสภาพร่างกายไม่ดี ด้วยโรคประจำตัว เส้นจะตึงมากเวลาขับรถ จึงคิดว่าจะให้นพรัตน์ ช่วยขับแทนบ้าง ปรากฏว่าเหมือนกับทุกครั้งของการเดินทาง
“พี่ ตู่ง่วงพี่ขับไปก่อนก็แล้วกัน” พูดแบบเน้นน้ำเสียงให้เข้มแกมสั่งการ (ตู่ชื่อเล่นของนพรัตน์)
![]() ผมคุยกับสำเริงไปตลอดทาง โดยมีเคนคอยให้ความเห็นสอดแทรก แบบขอมีส่วนร่วม
การอยู่ในรถทำให้มีการพูดคุยและรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดการเดินทาง
การสอดแทรกจาก เคนหลายครั้ง ทำให้ผมรู้ว่า เคนรู้เรื่องราวการทำงานของเครือข่ายไม่น้อยโดยเฉพาะแนวคิกการทำงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เราใช้ทางหลวงหมายเลข 344 สายบ้านบึงแกลงตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ถึงปางปะอิน จึงเข้าทางหลวงหมายเลข 1 และหมายเลข 11 อีกครั้ง จึงเดินทางถึงสนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ ในเวลา เที่ยงคืนพอดิบพอดี
ช่วงของการจัดนิทรรศการตลาดนัดความรู้
![]() ด้านซ้ายมือเป็นพื้นที่ว่า 2 ล๊อก เราคิดว่าเราน่าจะยึดอีก 2 ล๊อกน่าจะดี เพราะเมื่อนำของลงจากรถทั้งสี่คัน จึงรู้ว่า สองล๊อกคงน้อยเกินไป ไม่เป็นไรตอนเช้าค่อยประสานงานกับผู้จัดอีกที
พวกเราทุกคนมีความกระตือรือร้นที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยียนที่บริเวณซุ้มของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง โดยมีเคนและสำเริงคอยสนทนาด้วย ผู้คนที่เดินทางมาเที่ยวงานนี้ ส่วนหนึ่งรู้จักอยู่บ้างแล้ว จากการเดินทางมาศึกษาดูงานที่บ้านจำรุง รู้จักผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้เราได้เจอเพื่อนเก่า ใหม่พอสมควร
สำเริงชอบเรียนรู้อยู่แล้วเมื่อมาเจองานลักษณะนี้ ทำให้อดใจไม่ไหว อยู่ที่ซุ้มน้อยมาก ไปเที่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากซุ้มอื่น ๆ โดยเฉพาะซุ้ม อีเอ็ม ที่มาจากชลบุรี
ส่วนเคน ไม่น้อยหน้าสำเริง หายไปคราวละนาน ๆ มาทราบในภายหลังว่าไปเที่ยวเก็บเอกสารที่ซุ้มต่าง ๆ นำมาแจก พวกเราแอบแซวกันว่า
“อ่านหนังสือไม่เก่ง ไปเอามาทำไมเยอะแยะ” เคนตอบว่า “ เอามาดูรูปภาพ” เป็นคำตอบที่ทำให้เราหลายคนอึ้ง
นอกจากจะไปตามซุ้มเพื่อเก็บเอกสารแล้ว เคนยังไปที่ซุ้มของนมสดหนองโพ มีสองเหตุผล
หนึ่ง มีนมฟรีแจก สอง พนักงานประจำซุ้มสวย
ชุมพลให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นข้อสองมากกว่า เพราะปีนี้เคนเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว
จบตอนที่หนึ่ง (ขาขึ้น) ติดตามตอนสอง (ขาลง) ได้เร็ว ๆ นี้
ชาติชาย เหลืองเจริญ มหาวิทยาลัยบ้านนอก |