ผู้สูงอายุกับเปตอง เยาวชนกับดนตรี ![]() กลุ่มชมรมเปตองอินทโชติ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในชุมชนอำเภอแกลงที่รักและสนใจในกีฬาเปตอง จนกระทั่งขณะนี้มีสมาชิกกว่า 90 คน บริเวณด้านข้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุงมีสนามเปตองตั้งอยู่ เราเพิ่งสังเกตในเวลาต่อมาว่าบริเวณสนามเปตองนี้เป็นส่วนหนึ่งของเสียงหัวเราะและใบหน้ายิ้มแย้มที่เราได้พบเห็นเมื่อครั้งแรกที่มาเยือนชุมชนแห่งนี้ เยาวชนในชุมชนบ้านจำรุงมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เรียนรู้ที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม เห็นแก่ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน และเตรียมตัวเป็นผู้นำในอนาคต หลังจากที่การมาเยี่ยมเยือนบ้านจำรุงของเราในครั้งก่อน เราได้ยินเสียงซ้อมดนตรีดังมาจากบ้านหลังหนึ่ง วันนี้เราก็ได้คำตอบว่า นั่นเป็นดนตรีเยาวชน สวช. ของบ้านจำรุง เยาวชนในชุมชนซึ่งสนใจและมีความสามารถในการเล่นดนตรีจะมารวมกลุ่มกันเพื่อเล่นดนตรีและออกงานแสดงสดสร้างรายได้ให้กับกลุ่มครั้งละหลายหมื่นบาท ![]() นอกจากนี้ผู้สูงอายุในชุมชนยังรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสถานีอนามัยบ้านจำรุง เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ สร้างสังคมระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง เพื่อขจัดความว้าเหว่ในจิตใจเมื่อยามแก่เฒ่า กลุ่มผู้สูงอายุจะมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพของสมาชิกในกลุ่มทุกเดือน และมีรายการวิทยุเป็นของกลุ่มเอง และกลุ่มผู้สูงอายุยังเข้าร่วมในกลุ่มกิจกรรมการผลิตในชุมชน ด้วยการร่วมกันผลิตข้าวซ้อมมือจากโรงสีข้าวในชุมชนเพื่อนำไปจำหน่ายในร้านค้าชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนมีสุขภาพดี และซื้อข้าวซ้อมมือได้ในราคาย่อมเยา และนำแกลบ รำ ปลายข้าว ส่งไปให้กลุ่มเกษตรพื้นบ้านและกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำได้ใช้ประโยชน์ เรานึกถึงภาพวงจรการบริโภคในชุมชนบ้านจำรุงขึ้นมาได้อีกครั้งว่า ถ้าเกษตรนำปุ๋ยอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรพื้นบ้านไปใช้ในการปลูกข้าว ข้าวถูกส่งมาให้กลุ่มผู้สูงอายุผลิตข้าวซ้อมมือ แล้วในที่สุดกลุ่มเกษตรกรพื้นบ้าน กับกลุ่มผู้ใช้ตะพาบน้ำก็ต้องกลับมาซื้อข้าวซ้อมมือของกลุ่มผู้สูงอายุอีกครั้ง ห่าวโซ่คุณค่านี้ยังดำเนินไปอย่างไม่มีสิ่งใดสูญเปล่า และทุกฝ่ายต่างพึ่งพากันและกัน
![]() กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นกลุ่มที่มีอยู่อย่างไม่เป็นทางการมากกว่า 50 ปี แต่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมานานแล้ว จนกระทั่งมีวิทยุชุมชนเกิดขึ้น ทางกลุ่มก็ได้นำเรื่องราวประเพณีท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้านมาบอกเล่าผ่านรายการวิทยุ การรวมตัวกันทำกิจกรรมจึงเริ่มเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ทั้งกิจกรรมกลองยาว เครื่องสาย หมอทำขวัญ และกิจกรรมท้องถิ่นอย่างมหกรรมว่าว และในปี พ.ศ. 2547 กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ประสานกับโรงเรียนวัดจำรุง เพื่อนำวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไปเผยแพร่ให้กับเยาวชน มีการสอนกลองยาวให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนโดยใช้ชาวบ้านเป็นครู ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างประเพณีของท้องถิ่นกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรายังไม่มีโอกาสได้เห็นงานมหกรรมว่าวของบ้านจำรุง คราวหน้าถ้าเราไปชุมชนบ้านจำรุงในเดือนเมษายน เราหวังว่าคงมีโอกาสเห็นว่าวสีสวย ๆ ลอยโฉบไปมาอย่างร่าเริงเต็มท้องฟ้าบ้านจำรุง |
หน้าแรก > ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง >