ตลอดระยะเวลาของการขับเคลื่อนงานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น (๒๕๔๗ –๒๕๕๐) ผมมักได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า ต้องสร้างสื่อให้มีพลังให้ได้ พลังของสื่อคือพลังของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นฐานราก จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระดับนโยบาย ผมเฝ้าทบทวนงานที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้นว่า ผมจะสร้างสื่อให้มีพลังได้อย่างไร ผมต้องทำอะไรบ้างช่วงเวลานั้นผมรับหน้าที่ดูแลงานของ วิทยุชุมชนบ้านจำรุง จึงเริ่มต้นเรียนรู้การผลิตสื่อเพื่อชุมชนท้องถิ่น ทั้งการบริหารจัดการ การผลิตรายการ และฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี “แล้วเราควรกำหนดแนวทางการทำงานอย่างไรดี” ผมถามไปยังเพื่อน ๆ สมาชิก เราเริ่มมีความคิดว่านอกจากการผลิตสื่อเพื่อสื่อแล้วเราต้องคาดหวังว่าสื่อทุกเรื่องที่ผลิต ต้องคาดหวังการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปด้วย ได้ข้อสรุปเบื้องต้นจากการพูดคุยว่า พูดง่ายทำยาก “ผลิตรายการอะไร ให้ใครฟัง คนฟังได้อะไร” คำ ๆ นี้ คณะทำงานวิทยุชุมชนบ้านจำรุงถูกตอกย้ำจากอาจารย์เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ มาโดยตลอด เมื่อมารวมกับแนวคิดการสร้างสื่อให้มีพลังของงานพัฒนาฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น จึงผสมผสานกันได้อย่างลงตัว จนในระยะหลังเมื่อพวกเราผลิตสื่ออื่น ๆ จึงยึดติดกับคำสอนของอาจารย์มาโดยตลอด ทุกรายการที่ผลิตจึงเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จนนำไปสู่รูปธรรมของงาน เรื่องการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ใช้สื่อวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือ ธนาคารขยะ โฮมสเตย์ การท่องเที่ยวในชุมชน กลุ่มงานเกษตรพื้นบ้าน ยกระดับการทำงานของตนเองสู่เวทีสื่อชุมชนทุกประเภทที่เรามี ใช้ สื่อบุคคล ประธานกลุ่มและสมาชิกนอกจากทำงานของตนเอง ในกลุ่ม จึงเคลื่อนสู่การผลิตรายการวิทยุชุมชน และสู่รายการโทรทัศน์ ด้วยต้องการสะท้อนการทำงานสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงเกิดผลไปยังกระบวนการผลิตผักผลไม้ปลอดสารเคมี มีศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติไว้เชื่อมโยงการทำงานกับขบวนงานอื่น ๆ กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา ธนาคารชุมชน สวัสดิการ ฯลฯ สุดท้ายทำให้หลายคน หลายกลุ่มเริ่มจัดการเรื่องของตนเองได้มากขึ้น จากความมุ่งมั่นของการผลิตสื่อเพื่อชุมชนทั้งสิ้น เราได้เข้าสู่การใช้สื่อชุมชนเป็นเครื่องมือ สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ต่อมาเราได้เรียนรู้เรื่องสื่อมากขึ้น ทั้งการผลิตรายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์ วารสารสรุปงาน งานเอกสารชุมชน สื่อวัฒนธรรมชุมชน สื่อบุคคล ที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงความคิดทั้งตัวเองและสังคมใหญ่
เราได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องสื่อชุมชน มาตลอดระยะเวลาของการทำงานพัฒนา งานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ได้ใช้สื่อทุกชนิดเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อชุมชนท้องถิ่น
เรามาค้นพบในภายหลังว่า สื่อกระแสหลักมีอิทธิพลสูงเหลือเกิน มีอิทธิพลขนาดว่าให้สังคมซ้ายหันหรือขวาหันได้ ลึกลงไปในคนที่ผลิตสื่อที่ผมสัมผัสและพบเจอ ได้ขาดความมั่นใจในการประกอบอาชีพสื่อโดยเฉพาะสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม การผลิตสื่อต่าง ๆ ถูกกำหนดด้วยระบบทุนใหญ่คนไม่กี่คน แล้วต้องออกแบบกันอย่างไรกันดี ถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้เรามองลงไปในพื้นที่ เรามีคนทำสื่ออยู่แล้ว แต่จะยกระดับความแม่นยำทางความคิด ที่จะผลิตสื่อเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและเปลี่ยนแปลงสังคมกันอย่างไร “เอาคนทำงานพัฒนามาทำสื่อ เอาคนทำสื่อไปทำงานพัฒนา” วันนี้แนวคิดแบบนี้คงจะถูกส่งต่อให้กับคนทำงานพัฒนาว่าจะเชื่อมโยงความคิดกันอย่างไร แปลงสู่กิจกรรมได้มากน้อยขนาดไหน เชิญคนทำงานทั้งสองส่วนช่วยสานต่อความคิดนี้ต่อไปด้วย สำหรับผมเชื่อแล้วว่า สื่อชุมชนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนา การสร้างสื่อให้มีพลัง ต้องทำอย่างจริงจังและทุ่มเท ให้องค์กรชุมชนได้เรียนรู้งานสื่อมากขึ้น การเติมความรู้จากมืออาชีพที่เข้าใจ จะกลายเป็นพลังสำคัญของงานขับเคลื่อนองค์กรชุมชนอย่างแท้จริง
ชาติชาย เหลืองเจริญ
มหาวิทยาลัยบ้านนอก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ |
หน้าแรก > มหาวิทยาลัยบ้านนอก >