![]() เวทีประจำเดือน หัวใจของการเคลื่อนงานในระดับจังหวัด
การทำงานตามแผนงานโครงการของงานภาคพลเมืองที่ได้รับการหนุนเสริมงบประมาณจากสภาพัฒนาการเมือง ทำให้การร่วมกันคิดและร่วมกันทำของภาคพลเมืองมีความก้าวหน้าพอสมควร ตลอดระยะเวลา 1 ปี มีการประชุมอย่างต่อเนื่องของภาคพลเมืองระดับจังหวัดในทุกวันที่ 7 ของเดือน ที่ศูนย์ประสานงาน
การที่ทำให้ภาคพลเมืองมีโอกาสเจอกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ทำให้มีแกนนำหน้าใหม่ ๆ พื้นที่ใหม่ ๆ ได้มีการเรียนรู้ร่วมกัน ได้พบ คุย และนำงานที่ทำในแต่ละเดือนมานำเสนอแบบไม่เป็นทางการมากนัก ทำให้เห็นตัวตนและการขยับขับเคลื่อนงานในพื้นที่ที่เขาอยู่ พื้นที่นำร่องทั้ง 3 ตำบล ได้ยกระดับการทำงานและบอกต่อให้กับพื้นที่ที่เข้าร่วมเรียนรู้เสมือนเป็นการเติมไฟในงานพัฒนาให้กันละกัน ประสบการณ์ ของแต่ละพื้นที่ที่นำมาบอกเล่าผ่านเวที ทำให้เห็นถึงประสบการณ์ของแต่ละตำบล ที่หลากหลายไปตามสภาพของทุนเดิมที่เขามีอยู่
ค้นพบจากงานที่ทำ สภาองค์กรชุมชนตำบลตะพง ใช้ทุนเรื่องของชมรมรักษ์สุขภาพทำหน้าที่เชื่อมโยงประสานงานและนำประเด็นเรื่อง สุขภาพ สวัสดิการ มาเป็นเครื่องมือ กลายเป็นเวทีปรึกษาหารือในรูปแบบของสภาองค์กรชุมชนในที่สุด ในระยะแรก มีความคิดเรื่องของสภาองค์กรชุมชนเท่านั้น เมื่อไม่มีเนื้อหาในเวทีพูดคุยประจำเดือน เพราะมีการแยกกันคุยในแต่ละประเด็น ทำให้การขับเคลื่อนงานภาคพลเมืองผ่านสภา ฯ ทำท่าว่าจะไปไม่รอด เมื่อมีการควบรวมประเด็นและมีเวทีประจำเดือนอย่างต่อเนื่อง นำปัญหามาคุยร่วมกัน นำเรื่องสวัสดิการและงานสุขภาพ มาคุยในสภาองค์กรชุมชน เกิดข้อแนะนำจากเวทีประจำเดือน จึงทำให้เข้าใจและเดินไปพร้อมกันในที่สุด
เมื่อมีการปรึกษา หารือกันเป็นประจำ จึงเกิดการรู้เท่ารู้ทันในสถานการณ์ต่าง ๆ ทุกคนเห็นความสำคัญของเวทีระดับตำบลมากขึ้น แกนนำที่มาร่วมเวทีระดับจังหวัด มีการนำเรื่องราวไปสื่อสารเวทีตำบล การเคลื่อนงานภาคพลเมืองทั้งระดับตำบล และจังหวัดจึงหนุนเสริมซึ่งกันและกัน แกนนำที่เอาธุระ คือปัจจัยสำคัญของภาคพลเมือง
สภาองค์กรชุมนตำบลเนินฆ้อ ตำบลนำร่องอีกตำบลหนึ่ง มีแกนนำที่เอาจริงเอาจังกับงานภาคพลเมือง เป็นพื้นที่ต้นแบบงานพัฒนาแบบชาวบ้าน มีแผนงานการเคลื่อนงานและแนวทางที่ชัดเจน มีกลุ่มองค์กรในพื้นที่ถึง 44 กลุ่มที่มาร่วมปรึกษาหารือกันทุกวันที่ 15 ของเดือน
การที่มีทุนเดิมเรื่องกลุ่มองค์กรที่เข็มแข็งทำให้ การทำงานไม่อยากนัก เพราะส่วนใหญ่ทุกกลุ่มมีกิจกรรมของตนเอง และสามารถพึ่งพาตนเอง ในระดับหนึ่ง ประกอบกับท้องถิ่นให้การสนับสนุนงบประมาณในกิจการของสภาฯ เป็นอย่างดี ทำให้เป็นที่ยอมรับของภาคีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น
ในช่วงระยะ 1 ปีของการทำงาน แกนนำเห็นความเป็นพลเมืองของตนเองจากการทำงานผ่านกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ มีผู้คนมาเรียนรู้มากกว่า 6 หมื่นคน อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า) นักศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศ นักเรียนนายอำเภอ นักเรียนปลัดอำเภอ นักศึกษาจากสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ข้าราชการระดับสูง และที่สำคัญ พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ได้มาเยี่ยมเยียนเป็นขวัญกำลังในการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อด้วย ปัจจุบัน สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ มีสถานที่ในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง เป็นศูนย์ประสานงานภาคพลเมือง ทั้งเรื่องของสื่อ ภาคประชาชน งานสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด งานข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น การจัดการความรู้ในนามของ มหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง
มีผู้คนมาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
คนใหม่หัวไวใจสู้ สภาองค์กรชุมชนตำบลวังหว้า ตำบลนำร่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ แกนนำก็ใหม่ถอดด้าม แต่ด้วยหัวใจในการใฝ่รู้และเข้าใจในงานภาคประชาชน อยู่บ้าง จึงอาสาเข้ามาร่วมเรียนรู้เป็นตำบลนำร่องในปี 53
ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการทำงานผ่านโครงการส่งเสริมภาคพลเมืองจังหวัดระยอง เมื่อครั้งคัดเลือกพื้นที่นำร่อง แกนนำของตำบลที่เข้าร่วมเรียนรู้เวทีระดับจังหวัด ไม่ลังเลเลยในการสมัครใจเข้าร่วมโครงการ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะต้องไปให้ถึงตัวชี้วัด 7 ตัวให้ได้ภายใน 1 ปี ณ วันนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลวังหว้า มีคณะทำงานระดับตำบลที่มีองค์ประกอบของการร่วมมือจากหลายภาคส่วน มีแกนนำเยาวชน มีการประชุมในทุกวันที่ 13 ของเดือน ความเป็นพลเมืองของวังหว้ากำลังก่อร่างสร้างตัวผ่านคนรุ่นใหม่ สื่อเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา
ในการดำเนินโครงการ ได้ใช้สื่อเพื่อบอกเล่าการทำงานอยู่หลายช่องทาง โดยเฉพาะสื่อตัวบุคคลทั้งหลายที่ทำงานในลักษณะของพลเมือง เมื่อมีผู้คนเดินทางมาเรียนรู้ที่ศูนย์ ฯ ทำให้นักเดินทางได้เห็นรูปธรรมการทำงานในทุกลักษณะงาน การสื่อระหว่างบุคคลต่อบุคคล ทำให้เกิดการเรียนรู้
เรื่องการสื่อสารไปด้วย
โครงการได้จัดอบรบให้กับแกนนำตลอด 1 ปีที่ผ่านทั้งการผลิตสื่อ การใช้สื่อ และการสื่อสารกับสาธารณะ ผลผลิตทางด้านสื่อของโครงการ จึงออกสู่สายตาของผู้คนอย่างหลากหลาย ทั้งสิ่งพิมพ์ รายการจากวิทยุพลเมือง อินเตอร์เน็ท วีซีดี ซีดี มิวสิควีดีโอ รายการทีวี
ทั้งหลายทั้งปวงทำให้ผู้รับสื่อสามารถเข้าใจงานของภาคพลเมืองได้มากขึ้น การบริหารจัดการ
สูตรแห่งการเรียนรู้ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ การกำหนดแผนการทำงาน แผนปฏิบัติการ แบ่งงานกันไปตามถนัดของคณะทำงานแต่ละคน จะทำให้มีทิศทางการทำงานร่วมกัน มีปัญหา อุปสรรคน้อย ในช่วงเวลาของการเสนอโครงการ คณะทำงานได้ประชุมปรึกษาหารือกันมาโดยตลอด วางบทบาทหน้าที่ของทุกคนให้ชัดเจน มีการติดตามงานถามไถ่ ทบทวนเป็นระยะ ๆ ทำให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานทุกประการ คิดร่วมกัน แยกย้ายกันไปทำ ผลประโยชน์ของพลเมืองร่วมกัน
เมื่อคิดร่วมกันแล้ว ต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้เหมือนกันด้วย แจ้งผ่านเวทีในทุกระดับ การลงพื้นที่ทั้งตำบลเป้าหมายและตำบลขยายผล มีส่วนที่จะทำให้ได้พบแกนนำคนทำงานที่สำคัญ จึงพบเห็นในรายละเอียดของประเด็นแห่งปัญหา เช่น กรณีที่ท้องถิ่นไม่เอาด้วย หน่วยงานราชการบางหน่วย เจ้าหน้าที่บางคน ไม่ให้ความร่วมมือ จึงมีเวลาได้ปรับทุกข์ร่วมกัน และหาทางในการทำงานกันต่อไป
การทำงานควรเน้นไปที่บุคลิก วิถีของพลเมืองที่นั่นมากว่า บางตำบลอาจต้องคุยในที่ ๆ หนึ่ง เช่นตำบลวังหว้า ใช้สถานที่ศาลากลางบ้านหมู่ 13 ซึ่งเหมาะกว่าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ทุกคนมีโอกาสแสดงออกทางความคิดโดยไม่ต้องกังวลใจกับการเมืองท้องถิ่น ตำบลตะพง ใช้ศูนย์ประสานงานของชมรมรักษ์สุขภาพซึ่งพัฒนามาเป็นสถานที่กลางให้กับการทำงาน ตำบลเนินฆ้อ มีสถานที่ของขบวนองค์กรชุมชนต่อมาจึงเป็นสถานที่ของสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อและเป็นศูนย์ประสานงานจังหวัดด้วย จากบทเรียน พบว่าโดยที่สุดแล้วภาคพลเมืองต้องมีพื้นที่ของตนเอง แม้ว่าอาจจะไม่พร้อมด้านอาคารสถานที่แต่ถ้าใจพร้อมและมีเป้าหมายความสมบูรณ์ของสถานที่จะเกิดเองตามสภาพของพื้นที่นั้น ๆ
ผลประโยชน์สาธารณะต้องมาก่อนเสมอ
การเดินทางของภาคพลเมือง จะวัดจากวิธีคิดและพฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่ว่า ถ้าวันนี้ทุกคนเห็นงานสาธารณะและไม่นิ่งนอนใจ ลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการด้วยการปรึกษาหารือ รวมกลุ่มกัน กำหนดทิศทางการทำงานได้ ทั้งชีวิตส่วนตัว งานกลุ่ม งานสาธารณะ ไปได้พร้อม ๆ อย่างมีความสุข ย่อมบอกได้ว่างานภาคพลเมืองกำลังเริ่มต้นแล้ว สุดท้ายจะกลายเป็นทิศทางใหญ่ร่วมกันของทุกภาคส่วน ที่เรียกว่า "ภาคพลเมือง" นั่นเอง ![]() |
หน้าแรก > สภาองค์กรชุมชน >